ชุมชนวัวลาย หมู่บ้านเครื่องเงินเชียงใหม่
- 09 May 2023
ชุมชนวัวลาย หมู่บ้านเครื่องเงินเชียงใหม่
เมื่อเอ่ยถึงเมืองเชียงใหม่ใครต่อใครต่างพากันนึกถึง การทำร่มที่บ้านบ่อสร้าง การแกะสลักไม้ของบ้านถวาย ผ้าทอของอำเภอแม่แจ่ม แต่จะมีสักกี่รายที่นึกถึงงานหัตถศิลป์ที่มีชื่ออย่างเครื่องเงิน เครื่องเขิน นับตั้งแต่เมืองเชียงใหม่กลายเป็นดินแดนแห่งการท่องเที่ยว งานศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ของชาวบ้านได้รับการพูดถึงมากที่สุด และมีความคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง แน่นอนว่าในระยะแรกชาวบ้านอาจจะรู้สึกไม่มั่นใจว่า งานหัตถกรรมพื้นเมืองจะกลับมาเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยว แต่ว่าหลังจากนำมาปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ดูทันสมัยจนเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยว ชาวบ้านร้านค้าจึงมีความมั่นใจที่จะนำสินค้าพื้นเมืองเข้ามาจำหน่ายในร้านของตนมากยิ่งขึ้น และในท่ามกลางกระแสความนิยมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งกลับเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจที่ใครต่อใครหลายคนกลับถามหารูปลักษณ์แบบเก่า ๆ ของวันวานที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองข้ามจากผู้คน ว่ากันว่างานศิลปหัตถกรรมสามารถที่จะพัฒนาควบคู่ไปกับวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต เมื่อชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลง อาชีพและความเป็นอยู่ของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย นั่นย่อมหมายถึงมีผลกระทบต่องานหัตถกรรมของกลุ่มคนนั้นด้วยหากเมื่อนึกถึงเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ หลายคนจะนึกถึงร้านเครื่องเงินที่อยู่บนถนนวัวลาย บริเวณนี้เป็นแหล่งทำเครื่องเงินที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ จากตำนานสิงหนวัติกล่าวถึงต้นตระกูลของไท – ยวน คือ ปู้เจ้าลาวจก ได้ไต่บันไดเงินลงมาจากสวรรค์ลงมายังนครเงินยาง หลังจากนั้นได้หลอมบันไดเงินทำเป็นแท่นรองนั่ง จากตำนานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในอดีตมีเครื่องเงินใช้ในดินแดนแถบล้านนามานานแล้ว ทว่าในบันทึกของประวัติศาสตร์กลับขาดหายไป ไม่มีใครพูดถึงเครื่องเงินอีก ชุมชนวัวลาย เป็นชุมชนวัฒนธรรมย่านการค้าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.1981 พญาสามฝั่งแกนได้สร้างวัดหมื่นสารขึ้นเป็นศูนย์กลางชุมชน ต่อมาสมัยพระเจ้ากาวิละได้ไปกวาดต้อนผู้คนจากชุมชนงัวลายบริเวณลุ่มแม่น้ำคง และชุมชนชาวเขินจากเมืองเชียงตุง รวมถึงคนจากเมืองยอง เมืองสาด เมืองมาง ฯลฯ ไปจนถึงแคว้นสิบสองปันนาในจีน อพยพผู้คนจากที่ต่าง ๆ มาตั้งรกรากอยู่ในเชียงใหม่ และให้บรรดาช่างฝีมือต่าง ๆ อาศัยอยู่ในบริเวณในและนอกกำแพงเมือง กลุ่มช่างเงินมาตั้งรกรากอยู่ใกล้กับกลุ่มไทเขิน โดยมีวัดนันตาราม วัดศรีสุพรรณ และวัดพวกเปีย เป็นศูนย์กลางชุมชนและเรียกชื่อหมู่บ้านใหม่ตามชื่อของหมู่บ้านเดิมว่า “งัวลาย” หรือ “วัวลาย”
ในยุคแรกของการทำเครื่องเงินจะทำเป็นส่วยเพื่อถวายแด่เจ้าเมือง แต่เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวเมืองเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของล้านนา มีการติดต่อซื้อขายกับดินแดนอื่นโดยรอบไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาวหรือแม้แต่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เครื่องเงินเริ่มกลายเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนซื้อขายกับสินค้าชนิดอื่น สามัญชนเริ่มครอบครองเครื่องเงินได้ในขณะที่เจ้านายเปลี่ยนไปใช้เครื่องทองแทนพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายต่างก็เดินทางค้าขายระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งสินค้าและความรู้ภูมิปัญญา รูปแบบของเครื่องเงินจึงเริ่มหลากหลาย มีรูปแบบที่สวยงามมากขึ้น เช่นลายดอกฝ้าย ลายชนบท ลาย 12 ราศีและยังมีลายทรงม่านหรือลายม่าน เช่น ลายรามเกียรติ์ และลายของพม่าที่สวยงามแปลกตา วิชาช่างที่ถ่ายทอดจากปู่สู่พ่อ ลูกสู่หลาน รุ่นแล้วรุ่นเล่า ทำให้เสียงฆ้อนที่กระทบกับเครื่องเงินไม่เคยห่างหายไปจากย่านวัวลาย การทำเครื่องเงินเป็นงานของผู้ชาย เนื่องจากเป็นงานที่หนัก เริ่มตั้งแต่นำก้อนเงินมาหลอมแล้วกระหน่ำตี สลับกับการเผาเพื่อให้เงินอ่อนตัว จนเป็นแผ่นเรียบบาง จากนั้นนำไปขึ้นรูปและแกะสลักลวดลายให้มีความสวยงาม ซึ่งกว่าจะได้เครื่องเงินแต่ละชิ้นได้ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย
การทำเครื่องเงินเป็นทั้งงานช่างและงานศิลป์ที่จะต้องอาศัยความปราณีตและความละเอียดอ่อน เพื่อผลงานที่ออกมาจะได้สวยและงดงาม สมนึก อุดมวิเศษ ช่างฝีมือด้านการทำเครื่องเงินร้านวัวลายศิลป์ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนบ้านวัวลายไม่มีร้านค้าจำหน่าย ต่างคนต่างทำที่บ้านใครบ้านมันในยามว่างจากการทำไร่นา เมื่อบ้านวัวลายเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นหลังจากที่มีคนได้เชิญไปสาธิตการตีเงินที่วัดแสนฝางให้เจ้านายจากกรุงเทพและชาวต่างชาติดู ปรากฏว่าไม่นานเครื่องเงินของบ้านวัวลายก็เริ่มมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว
เมื่อเครื่องเงินเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม จึงมีคนเริ่มเปิดร้านจำหน่ายเครื่องเงินขึ้นมาในย่านวัวลายกันมากขึ้น ร้านค้าที่เปิดจำหน่ายเครื่องเงินเป็นร้านแรกชื่อ “ร้านบัวจันทร์” แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีใครจำได้ว่าเปิดขึ้นในปีใด ปัจจุบันร้านดังกล่าวได้เลิกผลิตไปแล้ว ส่วนร้านเก่าแก่ที่หลงเหลือและยังผลิตเครื่องเงินอยู่จนถึงทุกวันนี้ ได้แก่ ร้านวัวลายศิลป์ เปิดมาประมาณ 60 กว่าปีที่แล้ว กระทั่งเดี๋ยวนี้มีร้านค้าเปิดจำหน่ายเครื่องเงินบนถนนวัวลายเพิ่มมากขึ้นกว่า 20 ร้านเมื่อเข้าไปในร้านวัวลายศิลป์ จะพบเห็นตู้โชว์ที่มีเครื่องเงินมากมายหลายชนิด หลากหลายรูปแบบ ทั้งเครื่องประดับ ของใช้ ของตกแต่งบ้าน อาทิ สลุง พาน ถาด เชี่ยนหมาก ซึ่งของพวกนี้มีทั้งรูปทรงม่านและทรงเมือง คนสมัยใหม่จะนิยมลวดลายทรงม่านกันมาก แต่ลายทรงเมืองซึ่งถือว่าเป็นลายโบราณเอกลักษณ์ของวัวลายสมัยก่อนก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน
ปัจจุบันเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในย่านวัวลายนั้น ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะเป็นพวกลูกค้าประจำเท่านั้นที่เดินทางมาซื้อเครื่องเงิน แต่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยรู้จักย่านการค้าเครื่องเงินมากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีการส่งเสริมประชาสัมพันธ์เท่าที่ควร ผนวกกับแหล่งเครื่องบ้านวัวลายถูกยึดครองตลาดด้วยเครื่องเงินของชาวเขาจากไนท์บาซ่าร์ จากผลกระทบดังกล่าวทำให้ช่างทำเครื่องเงินย่านวัวลายต้องเลิกอาชีพนี้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับไม่มีผู้สืบทอดวิชาการช่างทำเครื่องเงิน งานหัตถกรรมเครื่องเงินของวัวลาย จะกลับมาเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้เชียงใหม่เหมือนในอดีตได้หรือไม่ คงไม่มีใครหาคำตอบได้ อย่างไรก็ตามเครื่องเงินของบ้านวัวลาย จะยังคงอยู่ในใจของคนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแค่ไหน เครื่องเงินของที่นี่ยังคงเป็นหนึ่งในงานฝีมือหัตถกรรมชิ้นเอกที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ต่อไป
แหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่ ถ. วัวลาย อ. เมืองเชียงใหม่ และ อ. ปัว จ. น่าน สนนราคาค่อนข้างสูง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นขันน้ำ พานรอง ถาด เข็มขัด มีการดุนลายอย่างประณีตงดงาม นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับเงินอย่างกำไล ต่างหู แหวนและสร้อยด้วย
วิธีเลือกซื้อ: เนื้อเงินค่อนข้างอ่อน บิดตัดได้ง่าย สีออกเหลืองนวล ผู้ผลิตจึงนิยมใส่โลหะอื่นผสมราว 0.1 % เครื่องเงินจึงมีสีวาวมากกว่าเงินแท้
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง
https://www.chiangmainews.co.th/,https://www.sanook.com/travel/1262078/