แบกเป้ท่องปัตตานี-สายบุรี

แบกเป้ท่องปัตตานี-สายบุรี

ทริปนี้วางแผนมาเกือบหนึ่งปีตั้งแต่ได้ตั๋วเครื่องบินมา ระหว่างนับวันรอก็ปักหมุดสถานที่ไปเรื่อยในแผนที่ จนถึงวันเดินทางเสียทีก็พอดีกับที่โรคระบาดมาเยือน เรายังคงเดินทางตามแผนแต่ระมัดระวังตัวเอง ใส่หน้ากากเมื่อใช้บริการขนส่งมวลชน และหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด

เรานั่งรถตู้จากบ.ข.สสงขลาไปปัตตานีราคา 120 บาท รถวิ่งตั้งแต่ 05:30 -17:30 สามารถบอกคนขับได้ว่าจะลงที่ไหน เราลงที่โรงพยาบาลปัตตานีเดินเข้าที่พักประมาณ 5 นาที

เข้าที่พักเก็บของแล้ว ออกไปเดินสำรวจเมืองกัน ย่านที่พักของเราใกล้โรงพยาบาล ศาลากลางจังหวัดและสถานที่ราชการอื่นๆ ก็จะเห็นพี่ๆ ทหารเฝ้าสถานที่บ้าง แต่บรรยากาศโดยทั่วไปก็เหมือนจังหวัดอื่นๆ ในเมืองไทย คนส่วนใหญ่จะใช้มอเตอไซค์หรือรถยนต์มากกว่าที่จะเดินเท้าอย่างเรา
การเดินเท้าท่ามกลางแดดแรงขนาดนี้ ต้องหาอะไรกินก่อน แวะกันที่ร้าน "นำรส" ถนนพิพิธ แม้จะเป็นเวลาบ่ายแล้ว แต่คนในร้านและซื้อกลับบ้านยังเยอะอยู่ ร้านนี้แนะนำให้สั่งตามที่ร้านกำลังทำอยู่จะรอไม่นาน ตอนที่ไปร้านกำลังทำราดหน้ารวมมิตรอยู่ รอไม่เกิน 15 นาทีก็ได้ แต่ถ้าสั่งอย่างอื่นร้านก็จะบอกว่ารอนานอาจจะเป็นชั่วโมง

ราดหน้ารวมมิตร (100 บาท) ใส่กุ้ง ปลาหมึก กระเพาะปลาและไก่ จานใหญ่มาก ผักคะน้าส่วนใหญ่เป็นใบไม่ใช่ก้าน รสชาติอร่อยดี แต่เครื่องอย่างกุ้ง ปลาหมึกไม่ได้คัดไซส์ใหญ่แบบที่เคยกินที่ร้านล่อคุ้งที่กันตัง

อิ่มแล้วเดินไปไหว้ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกัน ศาลเจ้าเล่งจูเกียงหรือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวสร้างโดยชาวจีนในเมืองปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2117 สมัยราชวงศ์หมิงตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา

ย่านนี้เป็นย่านชุมชนจีนเก่าแก่ "กือดาจีนอ" หรือย่านชุมชนจีนหัวตลาด มีบ้านเก่าหลายหลังพร้อมป้ายข้อมูลประวัติความเป็นมา แต่ส่วนใหญ่บ้านเหล่านี้ปิดอยู่ ไม่สามารถเข้าไปชมได้ บรรยากาศจึงเงียบเหงากว่าที่ย่านเมืองเก่าสงขลา
ตามป้ายข้อมูลที่หน้าบ้าน พบว่าที่นี่คือบ้านเลขที่ 27 ถนนอาเนาะรู หรือบ้านกงสี เดิมเป็นบ้านของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (ปุ่ย แซ่ตัน) ชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาตั้งรกรากสมัยร. 3 ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชาวจีนและเก็บภาษีอากรชาวจีนในเมืองตานีส่งให้เจ้าเมืองสงขลา บ้านพักเป็นเรือนทรงจีนชั้นเดียว หลังคากระเบื้องดินเผาโค้งท้องช้างทรงจีน ก่ออิฐถือปูน ฉาบด้วยปูนขาวผสมน้ำผึ้ง

บ้านรังนกมีตัวอาคารเดียวกับบ้านเลขที่ 1 ที่เรียกกันว่าบ้านรังนก เพราะเป็นบ้านหลังแรกที่มีนกนางแอ่นเข้ามาทำรังที่ชั้น 2 ของบ้าน ก่อนเริ่มงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในเช้าวันที่ 11 เดือนอ้ายตามปฏิทินจีนจะอัญเชิญองค์พระในศาลเจ้าเล่งจูเกียงไปร่วมชมมโนราห์ที่บ้านรังนก แล้วในเช้าวันที่ 14 จะเชิญกลับยังศาลเจ้า
เดินกันต่อไปที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เรามาถ่ายรูปที่นี่ทั้งกลางวันและกลางคืน สวยงามมาก

บรรยากาศตอนกลางคืนน้ำพุเปิดไฟด้วย และมีคนมานั่งเล่นมากกว่าตอนกลางวันที่ร้อนจัด
ที่ปัตตานีไม่มีรถสองแถวประจำทาง มีแต่สองแถววิ่งทั่วไปแล้วแต่จะเรียกไปไหน กับมอเตอไซค์ เราเลยเรียกมอเตอไซค์ไป skywalk ใกล้กับม.อปัตตานี บรรยากาศดีมาก แม้แดดจะแรงแต่ลมก็แรงมากเลยช่วยให้เย็นสบาย

วันรุ่งขึ้นเราจ้างรถสองแถวเล็กไปสะพานไม้บานา มัสยิดกรือเซะและสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และอุโมงค์โกงกางชุมชนบางปู

เริ่มกันที่สะพานไม้บานา พอไปถึงก็มีน้องคนนึงทักว่านั่งเรือไหม คนละ 30 บาท แต่เราไปคนเดียว สุดท้ายเลยให้น้องไป 50 บาท น้องพาล่องเรือออกไปในอ่าวปัตตานีประมาณครึ่งชั่วโมงแล้ววนกลับมา
ข้างมัสยิดกรือเซะคือสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว คุณลุงที่พบกันที่สะพานไม้บานาบอกว่าจริงๆ แล้วสุสานของเจ้าแม่อยู่ริมทะเล ต่อมาเพราะการกัดเซาะทำให้สุสานลงไปอยู่ในทะเล ส่วนตรงนี้เป็นเพียงการสร้างขึ้นใหม่เท่านั้น

ไปกันต่อจุดสุดท้ายที่ชุมชนบางปู ปกติจะคิดค่าเรือคนละ 99 บาทนั่งได้ 8 คน แต่เราไปคนเดียว เลยได้ราคาเหมา เท่าที่คุยกับชาวบ้าน วันนั้นจะมีเด็กนักเรียนมาเป็นร้อย แต่ยกเลิกไปเพราะ covid 19
นอกจากอุโมงค์โกงกางแล้ว เรือจะออกไปที่อ่าวปัตตานีแวะทะเลแหวกหรือสุสานหอย แล้ววนกลับมาเป็นวงกลม ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง คุณลุงทำหน้าที่ไกด์ชี้ชวนดูนั่นนี่และอธิบายตลอดทาง อุโมงค์โกงกางเป็นอีกไฮไลท์หนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนปัตตานี แม้ว่าจะเป็นการนั่งเรือกลางแดดเปรี้ยงตอนเที่ยงวัน แต่เมื่อผ่านอุโมงค์โกงกางแล้วร่มเย็นมาก คุณลุงเล่าว่าส่วนหนึ่งเป็นป่าโกงกางที่ปลูกใหม่ไม่กี่ปีมานี้ แต่โตเร็วมากจนตอนนี้สูงท่วมหัวแล้ว

จากปัตตานีเราไปนั่งรถสองแถวสายปัตตานี-สายบุรีที่ท่ารถใกล้ตลาดเทศวิวัฒน์ ค่ารถสองแถว 40 บาท
เราลงรถที่หอนาฬิกา วังพิพิธภักดีจะอยู่เยื้องหอนาฬิกา

เห็นหอนาฬิกานี้กดกริ่งได้เลย

วังพิพิธภักดี หรือบางข้อมูลก็เรียกว่าคฤหาสน์พิพิธภักดี

สถาปัตยกรรมของวังได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก เนื่องจากเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างชาติ จึงมีการนำสถาปัตยกรรมตะวันตกมาผสมผสาน ลวดลายฉลุตามประตู หน้าต่างและช่องลมสวยมาก น่าเสียดายที่ตอนนี้มีข้าวของมากองใต้ถุนตึกทำให้ความสวยงามน้อยลงไปบ้าง

เดินเท้าต่อมาไม่ไกลจากหอนาฬิกา มัสยิดรายาหรือมัสยิดเก่า เป็นมัสยิดของเจ้าเมืองสายบุรี น่าเสียดายช่วงที่ไปประตูปิดเลยเข้าไปถ่ายรูปข้างในไม่ได้

เราว่าจ้างรถไปหาดวาสุกรีและหาดซัมปลีมอ หาดวาสุกรีจะมีร้านอาหารหลายร้านใกล้หาด ส่วนหาดซัมปลีมอจะเงียบกว่าไม่มีนักท่องเที่ยว เหมาะลงเล่นน้ำ แต่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ เช่น ห้องอาบน้ำ ทั้งสองหาดสวยมาก ทรายนุ่มมาก แต่น่าเสียดายที่เห็นขยะพอสมควร ร่วมรณรงค์ไปเที่ยวแล้วพาขยะกลับไปด้วย ช่วยกันรักษาหาดให้สวยงาม

หาดซัมปลีมอ
คุณลุงจอดรถอยู่แถวหอนาฬิกา ใครที่ต้องการเหมารถไปเที่ยวในสายบุรีติดต่อได้ตามเบอร์ในรูปเลย
เราให้คุณลุงมาส่งที่ป้ายรถใกล้หอนาฬิกา เพื่อรอรถสองแถวไปยะลา รอไม่นานมีรถสองแถวเขียนปัตตานี-นราธิวาสเข้ามาจอด เราเข้าใจว่ารถไปปัตตานี แต่คนขับรถบอกว่าไปยะลาได้ เราเลยขึ้นไปแบบงงๆ ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ค่ารถ 40 บาท สุดท้ายรถก็มาส่งแถวสถานีรถไฟยะลา ส่วนการเดินทางยะลา-เบตงโปรดติดตามตอนต่อไป

**ภาพประกอบโดย food.travel.addict

cr.https://travel.trueid.net/detail/o5dwwKEKGmzv





0 คอมเม้นต์

แสดงความคิดเห็น

Copyright 2019 © Tour Planet. All rights reserved.
Powered by Need Soft